4,298 view

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

ประเทศไทยและประเทศนิวซีแลนด์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2499

ผู้แทนประเทศ

  • เอกอัครราชทูตไทยประจำนิวซีแลนด์คนปัจจุบัน : นายวราวุธ ภู่อภิญญา (MR.WARAVUTH POUAPINYA)
  • เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำไทยคนปัจจุบัน : MR. JONATHAN KINGS

ที่ทำการปัจจุบัน

ตั้งอยู่เลขที่  110 Molesworth Street, Thorndon, Wellington

ประวัติและที่มาของอาคารสำนักงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

อาคารสำนักงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่  110 ถนน Molesworth เขต Thorndon ในกรุงเวลลิงตัน ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น รูปทรงทันสมัย มีการออกแบบผสมผสานระหว่างรูปลักษณ์ความเป็นไทย ความโอ่โถงสง่างามตามแบบตะวันตก และมีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรงเพื่อรองรับสภาวะความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้แก่ แผ่นดินไหว ลมพายุ และน้ำท่วม  ตลอดจนมีระบบสาธารณูปโภคและการรักษา ความปลอดภัยที่ทันสมัย โดยรูปแบบของตัวอาคารประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ส่วนหนึ่งใช้เป็นอาคารสำนักงาน และห้องจัดเลี้ยงรับรองทางการทูต โดยเฉพาะในโอกาสสำคัญ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ และการจัดกิจกรรมทางการทูตอื่นๆ เช่นการประชุม และงานสัมมนาวิชาการต่างๆ เป็นต้น และในส่วนชั้น 2 และชั้น 3 ของอาคารหลังที่ 2 ก็สร้างเป็นที่พักในลักษณะห้องชุดอาพาร์ทเม้นท์ 2 ห้องนอน จำนวน 4 ห้องชุด เพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราวให้แก่ข้าราชการและคณะที่เดินทางมาเยือนนิวซีแลนด์  

ในส่วนประวัติที่มาของอาคารดังกล่าว รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้จัดซื้ออาคารพาณิชย์เก่า เดิมใช้ชื่อว่า Thorndon Tavern ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินที่มีทำเลใกล้กับสถานที่สำคัญได้แก่ รัฐสภานิวซีแลนด์ (อาคาร Beehive) โบสถ์ St. Paul และที่ตั้งของส่วนราชการสำคัญๆ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยโครงการจัดซื้อดังกล่าว มาจากข้อเสนอของ ฯพณฯ นายนิคม ตันเต็มทรัพย์ เอกอัครราชทูต    ณ กรุงเวลลิงตัน (ระหว่างปี 2536 – 2539 ) ซึ่งเป็นผู้มองการณ์ไกลและเห็นว่าอาคารดังกล่าวตั้งอยู่บนทำเลทองและมีขนาดเหมาะกับการปรับปรุงให้เป็นสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ซึ่งในขณะนั้นยังคงต้องเช่าบ้านพักอาศัยเพื่อใช้เป็นที่ทำการอยู่ โดยได้มีการจัดซื้อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2538 และได้มีการเสนอโครงการเพื่อปรับปรุงอาคารดังกล่าวให้เป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน พร้อมทั้งข้อเสนอที่จะปลูกสร้างทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ขึ้นในบริเวณเดียวกัน  

แต่หลังจากได้ดำเนินการจัดซื้ออาคารพร้อมที่ดินดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในปี 2539  ประเทศไทยก็ประสบกับสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจการเงินที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดเงินทุนสำรองอย่างรุนแรง โครงการของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการใช้เงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ในต่างประเทศที่ต้องนำเงินออกไปใช้ในต่างประเทศจำนวนมากจึงถูกระงับไว้ เพื่อรอให้สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว  แต่หลังจากนั้นเป็นเวลานานกว่า 12 ปี ก็มิได้มีการอนุมัติให้ดำเนินโครงการปรับปรุงก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต/ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตันแห่งใหม่  ซึ่งทำให้กลายเป็นปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลนิวซีแลนด์มีกฎหมายการจัดเก็บภาษีโรงเรือนสำหรับที่ดินและอาคารที่มิได้มีการใช้ประโยชน์ โดยคำนวณจากขนาดของทิ่ดินและตัวอาคาร จึงทำให้รัฐบาลไทยต้องจ่ายเงินเป็นค่าภาษีโรงเรือนประมาณปีละ 11,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 2,200,000 บาท มาเป็นเวลาถึง 12 ปี

และต่อมาจนกระทั่งเมื่อปี 2552  รัฐบาลจึงได้มีการอนุมัติโครงการปรับปรุงก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน แห่งใหม่ เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 300 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552  จนถึงปีงบประมาณ 2554  ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้มีการลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท Coldwell Banker Richard Ellis (CBRE) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาและที่ปรึกษาโครงการมาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2538 และเป็นบริษัทที่ชนะการประมูล ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการปรับปรุงก่อสร้างอาคารหลังเก่าเพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ในลักษณะ “Turn Key project” ฯพณฯ นายอุ้ม เมาลานนท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย การลงนามได้มีขึ้น ณ ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน แห่งเดิม เลขที่ 2 ถนน Cook Street  เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการเป็นเวลา 2 ปี และกำหนดส่งมอบภายในเดือนกันยายน 2554

แต่โดยที่ ฯพณฯ นายอุ้ม เมาลานนท์ ได้เกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2552 นายนภดล เทพพิทักษ์ เอกอัครราชทูตคนใหม่ซึ่งเข้ามารับหน้าที่ต่อจากเอกอัครราชทูตอุ้มฯ จึงได้เข้ามาทำหน้าที่ดำเนินโครงการแทน และการก่อสร้างจริงๆ ได้เริ่มขึ้นในช่วงของเอกอัครราชทูตนภดลฯ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี จึงแล้วเสร็จ ในการนี้ ได้มีการอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินโครงการปรับปรุงก่อสร้างอาคารฯ โดยที่อาคารที่ทำการแห่งใหม่ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ได้รับการออกแบบขั้นแรกโดยสถาปนิกไทย ซึ่งได้ออกแบบเป็นลักษณะ concept design หรือศัพท์ทางสถาปัตยกรรมเรียกว่าแบบ “concept 4A” คือมีเพียงภาพการออกแบบอาคารภายนอก ด้านหน้า-หลัง ด้านข้าง และ floor plan ในแต่ละชั้นเท่านั้น ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติม รวมทั้งการออกแบบตกแต่งภายใน ต้องใช้ทีมสถาปนิกและมัณฑนากรของบริษัทผู้รับเหมาเป็นผู้ออกแบบ คณะกรรมการของสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้ประสานขอความเห็นชอบจากกระทรวงการต่างประเทศไทยให้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกรูปแบบการตกแต่ง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการออกแบบและตกแต่งทั้งหลายดังกล่าวได้คิดรวมอยู่ในสัญญาจ้างเหมาซึ่งลงนามโดย เอกอัครราชทูตอุ้มฯ อยู่แล้ว และในการเลือกบริษัทผู้รับเหมา ทางบริษัท CBRE ได้ทำสัญญา Sub contract ว่าจ้างบริษัท Fletcher Construction Company ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีชื่อเสียงอันดับ 1 ของนิวซีแลนด์ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาทีมสถาปนิกและดำเนินงานก่อสร้าง โดยบริษัท CBRE มีหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานและเป็นที่ปรึกษาให้แก่ฝ่ายผู้ว่าจ้างฝ่ายไทย โดยที่การดำเนินโครงการมีลักษณะงานเป็นแบบ progressive ที่จะต้องเพิ่มรายละเอียดในเนื้องานแต่ละขั้นตอน จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานกันโดยตลอดระหว่างบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ทีมงานสถาปนิกและวิศวกร บริษัทที่ปรึกษา และสถานเอกอัครราชทูตฯเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามความต้องการของรัฐบาลไทย (ในฐานะผู้ว่าจ้าง) และคงความเป็นเอกลักษณ์ในฐานะสำนักงานผู้แทนของประเทศและรัฐบาลไทย และทางด้านรูปแบบการบริหารโครงการ เนื่องจากข้อจำกัดด้านระยะเวลาการดำเนินงานและงบประมาณที่ตายตัว และเป็นการดำเนินโครงการแบบ Turn Key ซึ่งผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบทั้งโครงการและเป็นผู้กำหนดรูปแบบการดำเนินงาน การบริหารโครงการดังกล่าวจึงใช้แนวทางการบริหารงานแบบธุรกิจเอกชนเต็มตัว ตั้งแต่การวางแผนงาน การแบ่งระยะเวลาขั้นตอนการทำงาน (work sheet)  การกำหนดเป้าหมายในแต่ละขั้นตอน การควบคุมและตรวจสอบมาตรฐานงาน การกำหนดขั้นตอนการชำระเงินตามเนื้องาน ตลอดจนถึงการส่งมอบอาคารที่ทำการฯ ที่  เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบการบริหารงานที่ มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป็นวิธีดำเนินงานที่ประสบปัญหาน้อยมาก โดยในระหว่างการดำเนินงานมีปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นเพียงประการเดียวคือ ปัญหาการขึ้นภาษี Goods and Service Tax –GST (เทียบได้กับภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ประกาศขึ้นภาษี GST จากร้อยละ 12.5 เป็นร้อยละ 15  ซึ่งทำให้ต้องขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกประมาณ 5 ล้านบาท 

กล่าวได้ว่า อาคารสำนักงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน แห่งใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงของเอกอัครราชทูตนภดล เทพพิทักษ์ และได้เปิดใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554  ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ คุ้มค่าเงินงบประมาณที่รัฐบาลได้ลงทุนไป โดยคำนวณจากเงินลงทุนในการซื้อที่ดินเมื่อปี 2538 จำนวนเงิน 3 ล้านดอลล่าร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 60 ล้านบาท บวกค่าภาษีโรงเรือนในระหว่างที่ยังไม่มีการดำเนินโครงการปรับปรุงก่อสร้างปีละประมาณ 2 ล้านกว่าบาท เป็นเวลา 12 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น ประมาณ 25 ล้านบาท และบวกงบประมาณค่าก่อสร้าง และภาษี GST ที่เพิ่มขึ้น เป็นเงิน 305 ล้านบาท รวมเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 390 ล้านบาท หรือประมาณ 18 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ แต่มูลค่าปัจจุบันของทั้งทิ่ดินและอาคารที่สร้างใหม่ที่ได้มีการประเมินราคาไว้ที่ 90 ล้านดอลล่าร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 2,340 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเงินที่ได้ลงทุนไปกว่า 6 เท่า และนอกจากในแง่ของมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลาแล้ว อาคารสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตันแห่งใหม่ยังเป็นอาคารที่มีความสง่างาม มีเอกลักษณ์สมศักดิ์ศรีในฐานะสำนักงานตัวแทนประเทศไทยในต่างประเทศ เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทยที่ได้พบเห็น และยังเป็นที่ชื่นชมและยอมรับในสายตาของชาวต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมสร้างภาพพจน์ที่ดีเกี่ยวกับประเทศไทยให้แก่ผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้ประเทศไทยได้มาซึ่งสถานเอกอัครราชทูตอันสง่างาม นอกจากเอกอัครราชทูตนภดลฯ และเอกอัครราชทูตอุ้มฯ ที่กล่าวมาแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ยังมี นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศในช่วงปี 2551-2552 ซึ่งเป็นผู้เข้ามาดูแลโครงการและรายละเอียดของสัญญาจ้างร่วมกับเอกอัครราชทูตอุ้มฯ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมี เอกอัครราชทูตนรชิต สิงหเสนี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและเจรจากับฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายนิวซีแลนด์ ก่อนหน้าที่เอกอัครราชทูตอุ้มฯ จะมารับตำแหน่งแทน และท่านสาโรจน์ ชวนะวิรัช อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งให้คำปรึกษา แนะนำ ในเรื่องต่างๆ อาทิ รูปแบบของอาคารที่เหมาะสมที่ให้คงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เป็นต้น ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะสำนักจัดหาและบริหารทรัพย์สิน ส่วนจัดหาและบริหารทรัพย์สินในต่างประเทศ ผู้เขียนจึงใคร่ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณมายังท่านทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ทั้งนี้ หากขาดหล่นซึ่งบุคคลใดไปบ้างก็ต้องขอกราบขออภัยมา ณ ที่นี้

                                                                                                                                                                                    

นายนนทวัฒน์ จันทร์ตรี

 อัครราชทูตที่ปรึกษา

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

ผู้เรียบเรียง

 

Royal Thai Embassy, Wellington, New Zealand

Thailand and New Zealand established diplomatic relations on 26 March 1956

Envoys

Ambassador of Thailand          : MR. WARAVUTH  POUAPINYA

Ambassador of New Zealand    : MR. JONATHAN KINGS

Address

110 Molesworth Street, Thorndon, Wellington

History of Royal Thai Embassy, Wellington Building

            Royal Thai Embassy, Wellington, New Zealand is located at 110 Molesworth Street, Thorndorn Wellington New Zealand. The Building is a modern combination of Thai and western style. It was built with strong structure ready for natural disasters common to New Zealand. Royal Thai Embassy building is comprised of two compounds, the first building is for official and consular purposes, and another building mostly being use for formal functions and events with its 2nd and 3rd floors used for accommodating government officers visiting New Zealand.

            In 1995, Thai government approved the purchase of an old building then known as ‘Thorndon Tavern’  which was deemed a valuable location in Wellington central, with proximity to The Beehive, St. Paul Cathedral and Ministry of Defence. The project was conceived by Mr. Nikom Tontemsrup (Ambassador of Thailand, 1993-1996) who is predicted that this location would be appropriate to be a new Royal Thai Embassy, Wellington. Originally, Thai government used a residential building to house the Royal Thai Embassy office. In February1995 after ‘Thorndon Tavern’ building was purchased by Thai government, further plans were developed to turn that into today’s Royal Thai Embassy Office.

            In 1997, building plan had paused due to Thailand’s financial crisis, resuming when the economy restored after more than 12 years, bringing expense problems from due property tax for wasted building and land enforced during the inactive period.

            A plan to build a new embassy building was finally approved in 2009 with Thai government allocating 300 million Baht budget for the project. Coldwell Banker Richard Ellis (CBRE) had won the bid for the turn key construction project.  Mr. Aum Melanon signed this contract on 22 September 2009 with project time frame of 2 years dictating the deadline for completion in September 2011.

            When Mr. Noppadon Theppitak was appointed an Ambassador of Thailand on 2009 following his predecessor’s retirement, concept design by Thai architect in “concept 4A” still showed only architectural design in each floor, and further details included interior design had to be added by CBRE with consultations from Ministry of foreign affairs, Thailand. Cooperation between parties in this project allowed the smooth running for the most part. The only one problem that interrupted this project is Goods and Service Tax (GST) which was increased while the project was running, forcing the Thai government to approve more budget to solve the problem.

            Finally, new Royal Thai Embassy construction finally finished in September 2011. To date, this has been a rewarding project as the appraise value of the property increased than 6 times since initial investment, but further more because the new Royal Thai Embassy building stands a dignified and gorgeous representation of Thailand’s image.